โครงการวิจัย 90388

ข้อมูลประวัตินักวิจัย
รหัสโครงการ: 90388 
โครงการวิจัย ทุนวิจัย : 2823 ทุนงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2556
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กทม.
จากสภาวะความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิต การสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง และความต้องการทางการอุปโภคบริโภคของพลเมืองในประเทศและพลเมืองในโลกปัจจุบันนี้มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดมีผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์สินค้าเข้าสู่ตลาดการพาณิชย์มากมายเป็นเงาตามตัว เป็นผลให้เกิดสถานการณ์การแข่งขันทางการค้าสูงขึ้นตามมา ทั้ง
จากภายในและจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากเหตุการณ์ร่วมสมัยปัจจุบันนับแต่นี้ไป ที่จะมีการรวมกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ขึ้นเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC : Asean Economy Community ภายในปีพ.ศ.2558 นี้นั้น ยิ่งทำให้ทุกภาคส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์สินค้าในประเทศไทย มีความจำเป็นอย่างย่างที่จะต้องปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมไว้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม อันนับว่าเป็นโอกาสสำคัญในการที่จะต้องมีการพัฒนาขีดความสามารถทางการค้า เพื่อการแข่งขันให้ได้ประสิทธิภาพเป็นมาตรฐานสากล (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย,2556) ซึ่งการที่ต้องมีการปรับปรุงพัฒนาขีดความสามารถทางการค้าให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น จึงต้องอาศัยความร่วมมือกันโดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน ทั้งในระดับชุมชน ระดับภาค และระดับประเทศ ควรต้องเป็นไปตามและสอดรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ มีแผนยุทธศาสตร์หลักของชาติเป็นแนวทาง ซึ่งแผนพัฒนาประเทศของสังคมไทยได้อัญเชิญหลัก"ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางนับแต่แผนระยะที่ 8 - 10 เป็นต้นมา ในระยะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ ฉบับที่ 11 จึงเป็นการนำภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ พร้อมทั้งเร่ง สร้างภูมิคุ้มกันในประเทศให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมคน สังคม และระบบเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและสังคมไทยให้มีคุณภาพ มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร และได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นธรรม รวมทั้งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจด้วยฐานความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ บนพื้นฐานการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,2556) ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนของสังคมไทย ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้อย่างต่อเนื่องนั่นเอง จังหวัดชัยนาท เป็นจังหวัดหนึ่งที่จัดอยู่ในเขตยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง) ซึ่งทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้จัดทำไว้ โดยให้มีวิสัยทัศน์ (Vision) ร่วมกันว่า เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย ศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางน้ำ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และธรรมชาติ ตั้งเป้าประสงค์ (Goals) ไว้คือ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP: Gross Provincial Products) ภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี มีรายได้จากการท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี และมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ของภาคการค้า การบริการ และการขนส่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี โดยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา (Development Strategies) ภายใต้ศักยภาพด้านการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร และฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม และธรรมชาติที่มีความโดดเด่น ประกอบกับมีที่ตั้งที่อยู่ใกล้เมืองหลวง และมีแม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำท่าจีน ประกอบกับการคมนาคมขนส่งสะดวก โดยเฉพาะระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำ หอการค้าไทยจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดฯ ไว้เป็น 3 ประเด็นยุทธศาสตร์ ดังนี้คือ (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย,2556) 1. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน2 (ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง) โดยมีกลยุทธ์ดังนี้ 1.1 ปรับโครงสร้างและพัฒนากระบวนการผลิตอาหารปลอดภัยให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อ การส่งออก (ข้าว และปศุสัตว์) 1.2 สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์แปรรูปเกษตร 1.3 พัฒนาเชื่อมโยงทางการตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ 2. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และธรรมชาติ เพื่อทำให้ เกิดการจ้างงาน และกระจายรายได้ โดยมีกลยุทธ์ดังนี้ 2.1 สร้างสรรค์กิจกรรมท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเสริมศักยภาพ การท่องเที่ยวระยะยาว 2.2 เชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างกลุ่มจังหวัด และภูมิภาคอื่นๆ 2.3 เร่งทำการประชาสัมพันธ์ตลาดท่องเที่ยวในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง 2.4 พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเพิ่มความสามารถในการให้บริการ 3. พัฒนาและปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ เพื่อใช้เป็นฐานในการขับเคลื่อนภาค เศรษฐกิจและสังคม ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต โดยมีกลยุทธ์ดังนี้ 3.1 พัฒนาโครงข่ายคมนาคมและขนส่งพื้นฐาน 3.2 พัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางน้ำ จังหวัดชัยนาท ได้มีการเริ่มดำเนินการตามโครงการสร้างเสริมขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีวิสัยทัศน์ตามแผนพัฒนาจังหวัดประจำปี 2556 เอาไว้ว่า “เมืองเกษตรมาตรฐาน สืบสานคุณภาพชีวิต” ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญแก่ด้านการเกษตร ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระดับชาติ ด้วยการกำหนดประเด็นประเด็นยุทธศาสตร์ข้อที่ 1 เอาไว้คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดด้านการเกษตร โดยมีเป้าประสงค์หลักเอาไว้ 3 ช้อคือ 1) ผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพปลอดภัยได้มาตรฐาน 2) เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร และ3) เพิ่มรายได้เกษตรกร (สำนักงานจังหวัดชัยนาท,มปป.) มีการจัดอบรมความรู้ตามประเด็นยุทธศาสตร์แก่ผู้ประกอบการ SMEs และ OTOP ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและของจังหวัด แต่จากสภาวการณ์ที่ผ่านมาพบปัญหาว่า ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวภายในจังหวัด ยังขาดความรู้ในเชิงการตลาด การคาดการณ์ การออกแบบ การส่งออกสินค้าและการสื่อสารกับผู้ค้าในระดับสากล (บ้านเมือง,2556) ดังนั้นการที่จะพัฒนาจังหวัดชัยนาทให้เป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรปลอดสารพิษ ที่สำคัญระดับประเทศและการส่งออก เกื้อหนุนอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น และจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้เป็นเมืองน่าอยู่ ได้จริงตามวิสัยทัศน์การพัฒนา จึงยังคงต้องการและเน้นการมีส่วนร่วมจากประชาชนและจากภาคีทุกภาคส่วน ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคีของภาคการศึกษา กอปรกับพื้นที่ของจังหวัดชัยนาท เป็นเขตพื้นที่ของการให้บริการทางการศึกษา และจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม คือมีศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม-ชัยนาท ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านดอนอรัญญิก ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท อันมีภารกิจและวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกันคือ ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม - ชัยนาท เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต นำภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากลและสร้างสังคมอุดมคุณธรรม และจากสภาพปัจจุบันและปัญหาดังกล่าว คณะผู้วิจัยในฐานะของคณาจารย์สาขาวิชาศิลปกรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าและบรรจุภัณฑ์แก่ชุมชนมาแล้วโดยตรง จึงมีความเห็นร่วมกันว่าการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์สินค้าด้านการเกษตรของกลุ่ม OTOP/SMEs ให้สามารถมีการขยายขีดความสามารถทางการค้าเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสากลได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องสอดรับกับแผนพัฒนาฯทุกระดับได้ดีนั้น ควรต้องนำแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์(Creative Economy) มาใช้เป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน วิสาหกิจชุมชนและหรือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กขนาดย่อม ในเขตจังหวัดชัยนาท ที่มีความต้องการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้แก่กลุ่มตนเอง ให้สามารถมีความพร้อมและทำให้เกิดการสร้างสรรค์พัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการสร้างตราสินค้า ( Brand ) อันเป็นเครื่องมือสำคัญหลักในทางการค้า สามารถนำพาให้การดำเนินการธุรกิจอยู่รอด และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างเป็นระบบและยั่งยืนได้ตลอดไป 

วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย
1 เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สินค้าทางการเกษตรของวิสาหกิจชุมชน ในเขตจังหวัดชัยนาท
2 เพื่อออกแบบพัฒนาต้นแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าการเกษตรของวิสาหกิจชุมชน ในเขตจังหวัดชัยนาท ภายใต้กรอบแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีประสิทธิภาพเพื่อการแข่งขันทางการค้า
3 เพื่อประเมินความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่างประชากร ที่มีต่อต้นแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าใหม่ที่ได้พัฒนาภายใต้กรอบแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์

No comments:

Post a Comment