สรุปผลวิจัย : Results

ผลการวิจัย
Prachid Chai Nat Packaging Design Moodboard 2014 แผนภาพสรุปผลการทำวิจัยออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์ชัยนาท จำนวน 16 ผลิตภัณฑ์ จาก 8 อำเภอ ในจังหวัดชัยนาท ปีพศ.2557 ปีงบประมาณ 2556 (เพิ่มเติม) ผลจากการวิจัยตามกระบวนการสร้างสรรค์และวิธีดำเนินการวิจัยแบบมีส่วนร่วม ทำให้ได้ชุดผลงานต้นแบบที่มีส่วนประกอบทางโครงสร้างและกราฟิกอัตลักษณ์สำหรับบรรจุภัณฑ์สินค้าให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนด้านการเกษตรในแต่ละอำเภอ รวม 8 อำเภอ อำเภอละ 2 ราย รวมทั้งสิ้น 16 ราย โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ได้ร่วมประเมินประสิทธิภาพและคุณภาพผลงานต้นแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าใหม่ที่ได้พัฒนาภายใต้กรอบแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เห็นว่าภาพรวมด้านการออกแบบโครงสร้าง ด้านการออกแบบกราฟิกสำหรับบรรจุภัณฑ์ และด้านการรับรู้ทางด้านการตลาด เป็นผลงานการออกแบบที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่เป็นไปตามตามวัตถุประสงค์ อยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยรวมทุกอำเภออยู่ที่ 4.61 โดยที่ผู้วิจัยได้สรุปรวบรวมไฟล์ต้นแบบดิจิตัลที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องขององค์ประกอบทางกราฟิกอัตลักษณ์ อาทิ แบบตัวอักษรและตัวพิมพ์ ตราสัญลักษณ์ ภาพถ่าย ภาพประกอบ ข้อมูลสารสนเทศของสินค้าและผู้ผลิต บันทึกลงแผ่นดีวีดีมอบให้แก่ผู้ประกอบการแต่ละรายที่เข้าร่วมโครงการวิจัย และได้นำเสนอเผยแพร่องค์ความรู้สาระสำคัญการวิจัยครั้งนี้ไว้ที่เว็ปบลอกชื่อที่อยู่ http://chainatotop.blogspot.com
----------------------------------------------------------
มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดชัยนาท เข้าร่วมโครงการวิจัยในทุกอำเภอ อำเภอละ 2 ราย รวมจำนวน 16 ราย ดังนี้คือวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์จากกะลา อำเภอเมืองชัยนาท วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ อำเภอเมืองชัยนาท วิสาหกิจชุมชนกลุ่มจักสานไม้ไผ่บ้านเนินไผ่ อำเภอมโนรมย์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มจักสานไม้ไผ่บ้านท่าแขก อำเภอมโนรมย์ ผลิตภัณฑ์ถั่วกรอบแก้ว ตราลุงผล อำเภอวัดสิงห์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรรักษ์โลก อำเภอวัดสิงห์ วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมศิลป์ ถิ่นเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มส้มโอกวนสี่รสบ้านใหม่บางกระเบียน อำเภอสรรพยา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรบ้านสระไม้แดง อำเภอสรรคบุรี วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดอนอรัญญิก อำเภอสรรคบุรี วิสาหกิจชุมชนกลุ่มไม้กลึงบ้านดอนกะโดน อำเภอหันคา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเชี่ยน อำเภอหันคา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกลุ่มออมทรัพย์บ้านเขาเกล็ด อำเภอหนองมะโมง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านกุดจอก อำเภอหนองมะโมง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเนินขามพัฒนา อำเภอเนินขาม วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้า ม.5 อำเภอเนินขาม
อภิปรายผลการวิจัย
ผลจากการวิจัยเรื่องการออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าการเกษตรของวิสาหกิจชุมชน จังหวัดชัยนาท เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ ตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในครั้งนี้นั้น มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดชัยนาท เข้าร่วมโครงการวิจัยในทุกอำเภอ อำเภอละ 2 ราย รวมจำนวน 16 ราย ดังนี้คือวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์จากกะลา อำเภอเมืองชัยนาท วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ อำเภอเมืองชัยนาท วิสาหกิจชุมชนกลุ่มจักสานไม้ไผ่บ้านเนินไผ่ อำเภอมโนรมย์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มจักสานไม้ไผ่บ้านท่าแขก อำเภอมโนรมย์ ผลิตภัณฑ์ถั่วกรอบแก้ว ตราลุงผล อำเภอวัดสิงห์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรรักษ์โลก อำเภอวัดสิงห์ วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมศิลป์ ถิ่นเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มส้มโอกวนสี่รสบ้านใหม่บางกระเบียน อำเภอสรรพยา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรบ้านสระไม้แดง  อำเภอสรรคบุรี วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดอนอรัญญิก อำเภอสรรคบุรี วิสาหกิจชุมชนกลุ่มไม้กลึงบ้านดอนกะโดน อำเภอหันคา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเชี่ยน อำเภอหันคา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกลุ่มออมทรัพย์บ้านเขาเกล็ด อำเภอหนองมะโมง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านกุดจอก อำเภอหนองมะโมง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเนินขามพัฒนา  อำเภอเนินขาม วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้า ม.5  อำเภอเนินขาม
ความสำเร็จของการวิจัยที่ได้ดำเนินตามกระบวนการสร้างสรรค์และวิธีดำเนินการวิจัยแบบมีส่วนร่วม(Community-based participatory research (CBPR) นับแต่ในขั้นตอนการสืบค้นข้อมูลระยะแรกที่ผู้วิจัยได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาและคัดเลือกผู้ประกอบการเพื่อเชิญเข้าร่วมโครงการวิจัยนั้น ทำให้ได้รับข้อมูลเชิงลึกทั้งทางภูมิศาสตร์และสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ การบรรจุภัณฑ์ การจัดจำหน่าย รูปแบบการใช้วัสดุ การออกแบบโครงสร้างและการออกแบบคุณลักษณะกราฟิกของสินค้าทางการเกษตรของวิสาหกิจชุมชน ในเขตจังหวัดชัยนาท ของผู้ประกอบการ และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่ นับแต่องค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและสำนักงานพัฒนาชุมชนประจำอำเภอในพื้นที่การวิจัย เพื่อนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการศึกษาวิจัยออกแบบพัฒนา  ซึ่งก็เป็นหลักการศึกษาวิจัยที่สอดคล้องกับวิธีการดำเนินงานวิจัยของ ณงค์ณุช นทีพายัพทิศ และสุพัฒน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล (2554)ที่ใช้วิธีปฏิบัติการกลุ่มแบบมีส่วนร่วม (PAR) สร้างกรอบแนวคิดเพื่อนำจุดเด่นทางวิถีชุมชนที่เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมมาเป็นจุดขายทางวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อสร้างกระบวนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์จักสาน การเสวนากลุ่ม (Focus Group) ผู้นำชุมชนและหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างเครือข่ายการประสานงานเชิงกลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการและคัดกรองกลุ่มวิสาหกิจชุมชน การสัมภาษณ์ปราชญ์ชุมชนเพื่อค้นหาองค์ความรู้ภูมิปัญญาชุมชน รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลจากตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ผลงานการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เช่นเดียวกัน ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ผู้วิจัยได้นำเสนอเผยแพร่และจัดทำตำแหน่งพิกัดแผนที่ทางภูมิศาสตร์ โดยการจัดทำการเชื่อมโยงใช้กับแผนที่ของกูเกิ้ล(Google Map) ที่สามารถเข้าถึงเข้าใช้ได้ตลอดเวลา เพื่อการเผยแพร่ การวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ได้ในอนาคต ที่ URL : http://chainatotop.blogspot.com/p/location.html
ในส่วนการออกแบบพัฒนาต้นบรรจุภัณฑ์ครั้งนี้นั้น ทำให้ได้ชุดผลงานต้นแบบที่มีส่วนประกอบทางโครงสร้างและกราฟิกอัตลักษณ์สำหรับบรรจุภัณฑ์สินค้าให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนด้านการเกษตรในแต่ละอำเภอ รวม 8 อำเภอ อำเภอละ 2 ราย รวมทั้งสิ้น 16 ราย ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบจริงในการวางแผนการตลาด การผลิตจริง การจัดจำหน่าย การจดลิขสิทธิ์ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสินค้า และหรือใช้เป็นผลิตภัณฑ์ทดสอบทางการตลาดต่อคู่ค้าและผู้บริโภคได้จริง อย่างเหมาะสมกับขีดความสามารถทางการค้า การผลิตและการลงทุนของแต่ละราย และหรือสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้กับเทคโนโลยีการผลิตที่มีอยู่เดิมหรือที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้เพราะผู้วิจัยมีความรู้และประสบการณ์ในการสอนมานานกว่า 30 ปี มีประสบการณ์ในการเป็นนักออกแบบบรรจุภัณฑ์อิสระ การเป็นวิทยากรที่ปรึกษางานโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สินค้าสินค้าชุมชนให้แก่หน่วยงานภาตรัฐและเอกชนอยู่เป็นประจำ ทำให้มีความเข้าใจในขั้นตอนและการดำเนินการออกแบบพัฒนานั้นต้องดำเนินการอย่างครอบคลุมทั่วทั้งทุกส่วนประกอบหลักสำคัญ 2 ประการ ซึ่งได้แก่ การออกแบบโครงสร้างบรรจุภัณฑ์และการออกแบบกราฟิกสำหรับบรรจุภัณฑ์ (ประชิด ทิณบุตร,2531) ซึ่งคุณลักษณะของกราฟิกอัตลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์และแบรนด์สินค้าของผู้ประกอบการในแต่ละท้องถิ่นนั้น ผู้วิจัยได้ออกแบบตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและให้เป็นมาตรฐานอย่างถูกต้องตามกฏหมายลิขสิทธิ์ โดยต้องการให้เป็นแบรนด์ของชุมชน เพื่อให้เป็นประสบการณ์ ความภาคภูมิใจร่วมในแบรนด์ เกิดประทับใจให้รู้สึกรับรู้ความเป็นเจ้าของร่วม ก็ได้รับการเห็นด้วย เกิดการยอมรับทั้งสมาชิกในกลุ่มและเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักการสร้างคุณลักษณะของแบรนด์ (Brand Attribute) ที่เกรียงไกร กาญจนโภคิน (2551) ได้กล่าวสนับสนุนแนวคิดสร้างสรรค์นี้เอาไว้ว่า Brand Attribute เป็นสิ่งที่ผู้คนมองเห็นและสัมผัสได้อย่างชัดเจน เป็นรูปร่างภายนอกและเป็นคุณสมบัติที่ทุกคนสามารถสัมผัสได้ เช่นตราสัญลักษณ์สินค้า (Symbol & Logo ) และกราฟิกร่วมสื่อสาร (Corporate Graphic Identity) ที่สามารถนำไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์และนำมาประเมินมูลค่าเป็นสินทรัพย์ของผู้ประกอบการได้
ซึ่งภาพรวมของการสรุปผลงานและการประเมินประสิทธิภาพผลงานออกแบบของแต่ละกลุ่มวิสาหกิจนั้น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ได้ร่วมประเมินประสิทธิภาพและคุณภาพผลงานต้นแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าใหม่ที่ได้พัฒนาภายใต้กรอบแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เห็นว่าภาพรวมด้านการออกแบบโครงสร้าง ด้านการออกแบบกราฟิกสำหรับบรรจุภัณฑ์ และด้านการรับรู้ทางด้านการตลาด เป็นผลงานการออกแบบที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่เป็นไปตามตามวัตถุประสงค์ อยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยรวมทุกอำเภอ มีค่าอยู่ที่ 4.61 ซึ่งการประเมินประสิทธิภาพนี้ก็เป็นขั้นตอนการสรุปผลรวมที่สอดคล้องกับผลงานวิจัยของ นพวรรณ ชีวอารี (2555) ที่ได้ทำการวิจัยเรื่อง การวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์หมูแปรรูปเพื่อส่งเสริมการขายกรณี ศึกษาบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์หมูแปรรูปในชุมชนท้องถิ่นจังหวัดนครปฐม ที่ใช้หลักการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญและแบ่งประเด็นเป็น 4 ด้าน คือด้านการปกป้องผลิตภัณฑ์ ด้านการบรรจุผลิตภัณฑ์ ด้านอำนวยความสะดวก ด้านส่งเสริมการจำหน่าย
และในขั้นการส่งมอบงานนั้นผู้วิจัยได้นำข้อมูลความต้องการเพิ่มเติม คำแนะนำและข้อคิดเห็นต่างๆของผู้มีส่วนร่วมพิจารณาตัดสินใจเลือกภาพรวมของผลงาน และแก้ไขข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกราฟิกอาร์ตเวิร์คบนบรรจุภัณฑ์ ให้ถูกต้องตามกฏหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงสรุปบันทึกไฟล์ดิจิตัลต้นแบบทั้งหมดอันได้แก่ ไฟล์ภาพถ่ายผลิตภัณฑ์สินค้า(Product Items Files) ไฟล์ตราสัญลักษณ์และอัตลักษณ์กราฟิกที่เกี่ยวข้องกับสื่อทัศน์ภาพประกอบ(Illustration) ทางการพิมพ์ แบบตัวอักษรและตัวพิมพ์ (Symbol & logo ,Digital Corporate Identity,Typefaces) ไฟล์ภาพกิจกรรมการมีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Design and Development Participation Acts) ฯลฯ ของผู้ประกอบการแต่ละราย ลงในแผ่นดีวีดี เพื่อนำส่งมอบให้ผู้ประกอบการได้นำไปใช้ประโยชน์ทางการผลิตและในเชิงพาณิชย์ สามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการแข่งขันทางการค้าที่มีประสิทธิภาพได้จริงในอนาคตต่อไป

ข้อเสนอแนะการวิจัย
ข้อเสนอแนะอันเป็นผลจากการวิจัยและหรือสาระสืบเนื่องในครั้งนี้ มีดังนี้คือ
1.ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
1.1 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มีวิทยาเขตอยู่ที่อำเภอสรรคบุรี เขตจังหวัดชัยนาททั้งหมดทั้ง 8 อำเภอ จึงนับว่าเป็นพื้นที่บริการทางวิชาการและการศึกษา ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจัดให้เป็นพื้นที่วิจัยเป้าหมาย ตามนโยบายของการจัดการศึกษา การวิจัยและการบริการวิชาการชุมชนโดยตรง ซึ่งปัจจุบันมีนักวิจัยได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งทางตรงและโดยอ้อมมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติจากการที่ผู้วิจัยได้เข้าดำเนินการวิจัยแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดชัยนาท ในครั้งนี้ ทำให้ได้ทราบปัญหาและความต้องการการสนับสนุน การพัฒนาศักยภาพด้านอื่นๆจากผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนอีกมากมาย
1.2 ทางมหาวิทยาลัย และวิทยาเขตชัยนาทสมควรดำเนินการรวบรวมข้อมูลการวิจัยที่กระจัดกระจายไว้ให้เป็นระบบ หรือจัดดำเนินการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลการวิจัยในพื้นที่ ตั้งศูนย์บริการความรู้ ศูนย์การเรียนรู้คู่กับชุมชนหรือนักปราชญ์ชุมชน ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงที่สอดรับกับนโยบายของทางจังหวัดและพื้นที่บริการข้างเคียง
1.3  วิทยาเขตชัยนาทควรได้รับการจัดงบประมาณให้เป็นศูนย์การพัฒนาทดลองงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนท้องถิ่นนี้ ควรมีการประสานงาน การจัดฝึกอบรมด้านการออกแบบพัฒนาสินค้าชุมชนร่วมกับทางศูนย์บ่มเพาะ(UBI) ของทางมหาวิทยาลัย ให้การสนับสนุนเผยแพร่ผลงานของนักวิจัยที่ไปทำวิจัยในเขตพื้นที่ เป็นต้น
1.4 มหาวิทยาลัยควรกำหนดใช้นโยบายให้มีการบูรณาการงานวิจัยในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย และใช้เขตพื้นที่บริการด้วยกันระหว่างนักวิจัยจากสาขาวิชาต่างๆที่เกี่ยวข้องจากคณะหรือหน่วยงานอื่นภายนอก เป็นต้น  ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนของข้อมูลพื้นฐาน การบริหารจัดการโครงการวิจัย การบริการจัดการงบประมาณ รวมทั้งการต่อยอดงานวิจัย การใช้ประโยชน์จากงานวิจัย เป็นต้น

2.ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ
2.1 มหาวิทยาลัยควรสนับสนุนและส่งเสริมงบประมาณ ค่าดำเนินการให้มีการวิจัยหรืองานออกแบบสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาสินค้าชุมชนอื่นๆ โดยใช้กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน(Community-based participatory research (CBPR) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันนี้มีนักวิจัยปฏิบัติการงานวิจัยและงานสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสังคม ของมหาวิทยาลัยในพื้นที่รับผิดชอบนี้น้อยมาก ทั้งนี้เนื่องจาก ได้รับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนที่ไม่สอดคล้องกับรายจ่ายค่าดำเนินการวิจัยที่เกิดขึ้นจริง
2.2 มหาวิทยาลัยควรมีการจัดทำโครงการวิจัยร่วมกับทางหน่วยงานในพื้นที่หรือทางจังหวัดชัยนาทโดยตรง เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน หรือองค์กรพัฒนาชุมชนในพื้นที่ มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จริงทั้งจากผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ของนักวิจัย ด้วยการใช้งบประมาณร่วมกัน หรือให้เกิดการร่วมพัฒนาร่วมกันจากไตรภาคีอย่างจริงจัง หรืออย่างน้อยก็ควรมีการนำเสนอข่าวสาร การเผยแพร่ผลงานที่ทำเสร็จและได้แสดงผลงานในเขตพื้นที่วิจัยให้ได้รับทราบ หรือนำเสนอประวัติและผลงานนักวิจัย ให้เกียรติรับเชิญเป็นวิทยากรผู้เชี่ยวชาญประจำในเขตพื้นที่บริการการศึกษาและวิชาการแก่ชุมชนแห่งนี้ ได้ตรงตามภาระกิจของการจัดตั้งวิทยาเขต
2.3 ผลงานวิจัยและออกแบบงานสร้างสรรค์ที่เกิดจากการวิจัยในเรื่องนี้ ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรง ซึ่งหากคิดมูลค่ารวมตามราคามาตรฐานอาชีพการว่าจ้างงานนักออกแบบสร้างสรรค์บรรจุภัณธ์ทั้งองค์ประกอบทั้งหมดแล้ว ซึ่งยังไม่รวมค่าพิมพ์ จะประเมินราคาค่าว่าจ้างและดำเนินการออกแบบในราคาไม่ต่ำกว่า 25,000 บาทต่อราย ซึ่งผลประโยชน์จากการวิจัยครั้งนี้จะทำให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนงานออกแบบจากโครงการวิจัยนี้แล้ว โดยการสนับสนุนนักวิจัยและนักออกแบบจากงบประมาณของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม อีกทั้งยังเป็นการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงให้ผู้ประกอบได้รับทราบ ซึ่งในการผลิตจริงตามจำนวนที่ต้องการนั้น ก็ควรต้องมีการลงทุนเอง หรือเสนอหาองค์กรภาครัฐหรือเอกชนที่มีงบประมาณสนับสนุนเป็นผู้สนับสนุนการผลิตบรรจุภัณฑ์จริงให้ โดยที่ผู้วิจัยยังคงรับเป็นที่ปรึกษาด้านการพิมพ์และการผลิต เทคนิคการบรรจุ วิธีการจัดจำหน่าย ตามภารกิจหน้าที่และความรับผิดชอบงานบริการวิชาการตามที่ร้องขอจากผู้ประกอบการต่อไป
2.4 ควรมีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการและผู้ประกอบการสินค้าชุมชนในพื้นที่ที่ยังมีความรู้และประสบการณ์ด้านการจ้างงานด้านการคิดสร้างสรรค์ เกี่ยวกับกฏหมายลิขสิทธิ์และสิทธิทางปัญญา การละเมิดสิทธิทางปัญญาทางเครื่องหมายการค้า ซอฟท์แวร์ แบบอักษรและตัวพิมพ์ ภาพประกอบที่ใชทางการพิมพ์การโฆษณา ด้านการออกแบบสร้างสรรค์โครงสร้างและกราฟิกสื่อสารบนบรรจุภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ระดับท้องถิ่น เป็นต้น ทั้งนี้เพราะปรากฏมีหลักฐานการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่มากมายบนงานพิมพ์บรรจุภัณฑ์ อาทิเช่น สิทธิ์อนุญาตการใช้งานแบบอักษรและตัวพิมพ์คอมพิวเตอร์(Font) ในการนำมาใช้เป็นเครื่องหมายทางการค้าจดทะเบียน (Logo & Symbolic) และการละเมิดลิขสิทธิ์ทางกราฟิกและภาพประกอบ (Illustration) เป็นต้น

3.ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป
3.1 ควรมีการศึกษาวิจัยหรือนำผลวิจัยไปต่อยอด เพื่อออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์และหรือธุรกิจบริการอื่นๆ ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เป็นสินค้าด้านอื่นๆอีก ตามที่มีผู้ประกอบการในชุมชนของจังหวัดชัยนาท ร้องขอหรือที่ได้จากการสำรวจปัญหาและความต้องการที่จะได้รับการสนับสนุนการวิจัย ทั้งในเชิงกว้างหรือลึก ซึ่งยังมีอีกมากมาย นับแต่กลุ่มที่กำลังเริ่มดำเนินการ มีความต้องการ ร้องขอรับบริการ ให้ช่วยเหลือในภาระงานด้านการออกแบบพัฒนาธุรกิจ และหรือกลุ่มที่มีการพัฒนาเป็นผู้ผลิตสินค้ามาตรฐานในระดับโอทอปแล้ว หรือได้มาตรฐานการผลิตจนยกระดับเป็นกลุ่ม SMEs เพื่อการเตรียมการวางแผนการผลิต การทดสอบตลาด การสร้างโอกาสในการแข่งขันในเวทีการค้าใน AEC หรือกรณีศึกษาเฉพาะอื่นๆเป็นต้น
3.2 ในการดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อออกแบบพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ระดับชุมชนเป็นการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนแบบให้เปล่า โดยที่ไม่คิดมูลค่าหรือค่าใช้จ่ายใดๆ เฉกเช่นกับการที่หน่วยงานในพื้นที่ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการจ้างงานออกแบบและการพิมพ์ ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นการจัดสรรให้โดยเป็นภาพรวม ซึ่งเป็นการจ้างผลิตงานต้นแบบทางการพิมพ์ที่ไม่สามารถนำสืบการละเมิดผลงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้อื่นได้ ดังนั้นผู้วิจัย ผู้ออกแบบ หรือมีการว่าจ้างงานนักออกแบบดำเนินการให้นั้น ควรต้องระมัดระวัง นับแต่การอ้างอิงใช้งานโปรแกรมสร้างสรรค์งานต้นแบบด้วยคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้อง ( Art & Design Applications) และส่วนประกอบทางกราฟิกอัตลักษณ์ต่างๆที่ได้นำมาใช้ทั้งแบบที่แจ้งว่าใช้ได้ฟรีหรือจำหน่ายก็ตาม นักวิจัยหรือนักออกแบบจึงควรต้องตรวจสอบสิทธิ์การนำมาใช้ว่ามีเงื่อนไขและการอนุญาตให้นำมาใช้ได้เช่นใด ดังนั้นวิจัยและออกแบบจึงต้องมีหลักฐานการซื้อ หรือการจ้างงานออกแบบ จ้างโรงพิมพ์ให้ถูกต้องตามกฏหมาย และตามจรรยาบรรณของนักวิจัยที่พึงประสงค์

No comments:

Post a Comment