การออกแบบพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์


พระราชบัญญัติวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 ได้กล่าวถึงเจตนารมย์ของการจัดตั้งเอาไว้ว่าให้มีการส่งเสริมความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น การสร้างรายได้ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การพัฒนาความสามารถในการจัดการ และการพัฒนารูปแบบของวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง พร้อมสำหรับการแข่งขันทางการค้าในอนาคตไม่ว่าในระดับใด รวมถึงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนไปสู่การเป็นผู้ประกอบกิจการในระดับที่สูงขึ้นต่อไป

      วิสาหกิจชุมชน   (SMCE หรือ small and micro community enterprise) หมายถึง กิจการชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการ หรือการอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกัน และรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบใด หรือไม่เป็นนิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชน และระหว่างชุมชน
      เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หมายถึง คณะบุคคลที่รวมตัวกันโดยมีวัตถุประสงค์ในการทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนในเครือข่าย
 ลักษณะที่สำคัญของวิสาหกิจชุมชน จะต้องประกอบด้วยอย่างน้อย 7 ประการคือ
1.  ชุมชนเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการ
2.  ผลผลิตมาจากระบวนการในชุมชน โดยใช้วัตถุดิบ ทรัพยากร ทุน แรงงานในชุมชนเป็นหลัก
3.  ริเริ่มสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมของชุมชน
4.  เป็นฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานภูมิปัญญาสากล
5.  มีการดำเนินการแบบบูรณาการ เชื่อมโยมกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ
6.  มีการพึ่งพาตนเองของครอบครัวและชุมชนเป็นเป้าหมาย

ดังนั้นในกระบวนการดำเนินงานศึกษาวิจัยเพื่อการออกแบบพัฒนาครั้งนี้ จึงได้ใช้วิธีการศึกษาวิจัยแบบการพัฒนาทดลอง (Experimental Development) โดยวิธีการให้กลุ่มบุคคลในชุมชนที่เป็นสถานที่ทำการศึกษาวิจัยทดลอง ในเขตพื้นที่จังหวัดชัยนาท ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาและพัฒนา (Community-based participatory research (CBPR) ร่วมให้ข้อมูล และร่วมตัดสินใจคัดเลือกผลงานโดยวิธีการประชุมสนทนากลุ่ม(Focus Groups) โดยมีวิธีการดำเนินการวิจัยเป็นลำดับขั้นตอนของการออกแบบพัฒนา(Design and Development Work Flow) เพื่อให้ผลการดำเนินงานด้านการให้คำปรึกษา การสร้างองค์ความรู้ในการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ดังนี้คือ
1.1 การกำหนดคุณลักษณะผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ (Product and Packaging Design Specification) โดยอาศัยข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆเช่น
- การศึกษาภาพรวมความต้องการของผู้ประกอบการและผู้บริโภค(Identify customer and entrepreneur needs)
- การศึกษาข้อมูลสรุปจากตัวชี้วัดและดัชนีการผลิต (Conduct Benchmarking)
- การประเมินผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของคู่แข่งขันทางการค้า(Evaluate Competitor’s Product & Package)
- การตั้งวัตถุประสงค์และเกณฑ์การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์(Establish and Approve Product and Packaging Design Specifications):PPDS
1.2 ขั้นการกำหนดมโนทัศน์ผลิตภัณฑ์(Product Concept Generation Stage) เช่น
- การพัฒนามโนทัศน์ทางเลือกสำหรับผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์(Develop Alternatives Concept)
- การเลือกมโนทัศน์ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมมากที่สุด (Select Most Suitable Concept)
1.3 ขั้นการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ (Product and Packaging Design Stage)เป็นขั้นตอนการทำงานออกแบบในระดับต่างๆของนักออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อาทิเช่น
- การสร้างภาพร่างเพื่อสื่อสรุปแนวคิดและความต้องการ ตามข้อกำหนดกฏเกณฑ์ที่ตั้งไว้(Design Briefs Rendering)ให้ปรากฏ ซึ่งอาจจะสร้างเป็นภาพอย่างง่ายๆ หยาบๆ มีขนาดเล็ก หลากหลายระดับคุณภาพ ด้วยมือของนักออกแบบหรือทีมงานฝ่ายออกแบบ(Hand Drawn) เพื่อใช้ประกอบการศึกษาข้อมูลเบื้องต้น(Preliminary Study) แสดงรายละเอียดปลีกย่อย มีคำอธิบายระบุหรือกำกับแนวความคิดเริ่มต้นหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าแบบร่างทางความคิดนั่นเอง
- การสร้างภาพแบบร่างสื่อสารความเข้าใจ(Comprehensive Sketch Design) ส่วนใหญ่เป็นการแสดงภาพร่าง
- การออกแบบรายละเอียด (Detail Design)
- การเขียนแบบใช้งาน(Working Drawing)
- การกำหนดส่วนประกอบและวัสดุ (Part List and Materials Selection)
1.4 ขั้นการผลิต(Production Stage)
- การสร้างแบบจำลอง(Mockup Model Study)
- การสร้างต้นแบบและการทดสอบ(Prototype Production and Testing)
- การผลิตจริงตามสายงานการผลิต(Ongoing Product Production)
1.5 การสรุปและประเมินผล(Conclusion and Evaluation)

นิยามศัพท์เฉพาะ
การออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์ (Packaging Design and Development) หมายถึงการปรับปรุงพัฒนารูปลักษณ์และคุณลักษณะทางโครงสร้างสิ่งห่อหุ้มและตกแต่งผลิตภัณฑ์และกราฟิกสื่อสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เพื่อการตลาดและการจัดจำหน่าย

สินค้าการเกษตรวิสาหกิจชุมชน(Agricultural Community Enterprise Products) หมายถึง สินค้าเกี่ยวกับการด้านการเกษตรของชุมชน ที่เกิดจากการดำเนินการกิจการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบใด หรือไม่เป็นนิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน

จังหวัดชัยนาท (Chainat Province) หมายถึงจังหวัดหนึ่งของไทยที่ตั้งอยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองชัยนาท อำเภอเมืองมโนรมย์ อำเภอวัดสิงห์ อำเภอสรรพยา อำเภอสรรคบุรี อำเภอหันคา และอำเภอหนองมะโมง

ขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า (Competitiveness and Efficiency) หมายถึงการสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ๆให้มีความสมบูรณ์ตามบทบาทหน้าที่ทางการตลาด ให้มีความหลากหลายของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนแสวงหาวิธีการใหม่ๆ ในการพัฒนาสินค้าหรือบริการที่แตกต่างจากคู่แข่ง

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) หมายถึงกิจกรรมที่ต้องมีองค์ประกอบร่วมของแนวความคิดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ ทางการศึกษา การสร้างสรรค์งาน และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ที่เชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของสังคม นวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1. การประยุกต์ใช้ข้อมูลเชิงลึกทั้งทางภูมิศาสตร์และสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ การบรรจุภัณฑ์ การจัดจำหน่าย รูปแบบการใช้วัสดุ การออกแบบโครงสร้างและการออกแบบคุณลักษณะกราฟิกของสินค้าทางการเกษตรของวิสาหกิจชุมชน ในเขตจังหวัดชัยนาท สำหรับผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการศึกษาวิจัย ใช้เพื่อการเผยแพร่ การวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ได้ในอนาคต

2. ต้นแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าการเกษตรของวิสาหกิจชุมชน ในเขตจังหวัดชัยนาท ภายใต้กรอบแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของผู้ประกอบการแต่ละรายที่เข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 16 ราย สามารถเลือกและสามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบจริงในการวางแผนการตลาด การผลิตจริง การจัดจำหน่าย การจดลิขสิทธิ์ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสินค้า และหรือใช้เป็นผลิตภัณฑ์ทดสอบทางการตลาดต่อคู่ค้าและผู้บริโภคได้จริง อย่างเหมาะสมกับขีดความสามารถทางการค้า การผลิตและการลงทุนของแต่ละราย และหรือสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้กับเทคโนโลยีการผลิตที่มีอยู่เดิมหรือที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม

3. ผลวิจัยที่ได้จากแนวคิดใหม่เพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพของกลุ่มตัวอย่างประชากรที่ศึกษา เป็นต้นแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าใหม่ ที่ได้พัฒนาขึ้นภายใต้กรอบแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้นำไปใช้ให้เกิดเป็นโจทย์หรือแนวทางในการสร้างสรรค์ การพัฒนาธุรกิจ ให้ก้าวไกลได้อย่างยั่งยืน เพื่อใช้ประโยชน์เป็นสินทรัพย์สร้างสรรค์ (Creative Assets) ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการโดยตรงและทั่วไป

No comments:

Post a Comment